การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทนั้น วัตถุประสงค์ของการดำเนินธุรกิจจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ต้องใช้ข้อความที่ชัดเจน และไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน บางธุรกิจจะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน จึงจะสามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้ ดังนั้น ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จึงกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนและบริษัท จะต้องไม่มีลักษณะดังต่อไปนี้
- ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือขัดต่อรัฐประศาสโนบาย
- ใช้คำหรือข้อความที่มีความหมายไม่ชัดเจน หรือไม่กำหนดขอบเขตให้ชัดเจนแน่นอน
- ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
- ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจหลักทรัพย์ กิจการข้อมูลเครดิต บริหารสินทรัพย์ กิจการคลังสินค้ากิจการไซโล หรือกิจการห้องเย็น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- กิจการจัดหางาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการดังกล่าวจากกรมการจัดหางาน
- กิจการนายหน้า ตัวแทน และตัวแทนค้าต่างในธุรกิจต่างๆ เว้นแต่จะได้ระบุว่า ยกเว้นกิจการประกันภัย การหาสมาชิกให้สมาคม และการค้าหลักทรัพย์
- กิจการเกี่ยวกับการรับจำนองทรัพย์สิน เว้นแต่จะระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า “โดยมิได้รับฝากเงิน หรือรับเงินจากประชาชนและใช้ประโยชน์จากเงินนั้น”
- กิจการนายหน้าประกันภัย เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
- กิจการแชร์
- กิจการซื้อขายสินค้าล่วงหน้า (คอมโมดิตี้) เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- กิจการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ การศึกษา โรงเรียน สถาบันการศึกษาเว้นแต่จะได้ระบุข้อความว่า “เมื่อได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว”
- ธุรกิจขายตรง หรือธุรกิจตลาดแบบตรง เว้นแต่จะได้รับการจดทะเบียนให้ประกอบธุรกิจดังกล่าวจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
คำขอจดทะเบียนซึ่งได้ยื่นขอจดทะเบียนไว้ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้เป็นไปตามระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ในขณะยื่นคำขอจดทะเบียนนั้น
ที่มา : ระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง ว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัท (ฉบับที่ 9) พ.ศ. ๒๕๕๗ : www.dbd.go.th