ขายของออนไลน์ ต้องจดทะเบียน สคบ.

ขายของออนไลน์ (Online) ต้องจดทะเบียน สคบ.

ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 100,000 บาท และปรับวันละ 10,000 บาท จนกว่าคุณจะปิดเว็บไซต์หรือปิดกิจการ 

ผู้ประกอบธุรกิจที่ทำการค้าขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนต่อ สคบ. ตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง  พ.ศ. 2545 ก่อนจึงจะทำการค้าได้

ขายของออนไลน์
ตลาดแบบตรง

ความเป็นมาและสภาพปัญหา
ในยุคแห่งโลกาภิวัฒน์ การซื้อขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ต หรือที่นิยมเรียกว่า e-commerce นั้น นับว่าเป็นธุรกรรมที่นิยมแพร่หลายเป็นอย่างมาก เนื่องจากอินเตอร์เน็ตได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนจำนวนมากใน โลกใบนี้ไปแล้ว  ปัจจุบันอินเตอร์เน็ตได้ขยายวงกว้างมากขึ้นทุกวัน   ประกอบกับการซื้อขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตนั้นเป็นวิธีการทำตลาดที่สามารถ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เป็นจำนวนมาก ในเวลาอันรวดเร็ว และใช้ต้นทุนในการลงทุนต่ำอีกด้วย ปัญหาที่ตามมาจากการซื้อขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ตที่มีผู้บริโภคร้องเรียน ต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นจำนวนมาก ก็คือ สั่งซื้อสินค้าโดยโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารหรือผ่านบัตรเครดิตแล้วแต่ไม่ได้ รับสินค้า  ได้รับสินค้าชำรุดบกพร่อง  สินค้าไม่ได้มาตรฐาน สินค้าไม่เป็นไปตามที่โฆษณา  ติดต่อผู้ขายไม่ได้  เหล่านี้สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น บางกรณีสั่งซื้อสินค้าประเภทยาลดความอ้วนโดยหลงเชื่อคำโฆษณาที่มักโอ้อวด เป็นเท็จ เกินจริง แล้วไปใช้ผิดวิธี ไม่ได้ใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ จนให้เสียชีวิตไปดังที่ปรากฏเป็นข่าวก็มี   ดังนั้น ปัญหาที่เกิดจากการซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ตนอกจากที่กล่าวมาแล้ว จึงควบคู่มากับการโฆษณาโอ้อวดเกินจริงเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่สุจริต หวังแต่เพียงกำไรโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค   ดังนั้น ผู้บริโภคที่สั่งซื้อสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตต้องระมัดระวังและตระหนักใน ปัญหาเหล่านี้ให้จงหนัก
ธุรกิจซื้อขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ตที่ต้องจดทะเบียน
ผู้ประกอบธุรกิจที่ทำการค้าขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนต่อ สคบ. ตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง  พ.ศ. 2545 ก่อน จึงจะทำการค้าได้  เหตุที่กฎหมายต้องบังคับให้ต้องจดทะเบียนก็เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถ ตรวจสอบหรือติดตามผู้ประกอบธุรกิจหรือบุคคลผู้ค้าขายได้ หากผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ์จากการซื้อสินค้าหรือบริการ  ขอย้ำว่า ผู้ทำการค้าขายสินค้าผ่านสื่อหรืออินเตอร์เน็ตที่ว่านี้ต้องได้รับอนุญาต ก่อนจึงจะทำการค้าขายได้ มิใช่ค้าขายไปก่อนแล้วไปจดทะเบียนภายหลัง  (จดก่อนขายมิใช่ขายก่อนจด)  โดยแยกบุคคลที่มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนเพื่อทำการค้าขายผ่านอินเตอร์เน็ตดังนี้

1. กรณีเจ้าของเว็บไซต์ที่จดทะเบียนเว็บไซต์ไว้เพื่อขายสินค้าของตนเองก็ดี หรือเป็นคนกลางในการนำสินค้าของบุคคลอื่นมาขายผ่านหน้าเว็บไซต์ก็ดี มีหน้าที่โดยตรงในการต้องไปจดทะเบียนต่อ สคบ. ตัวอย่างเช่น บริษัท เอ จำกัด จดทะเบียนเว็บไซต์ ชื่อ www.I Love Shopping.com โดย ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการนำสินค้าของบุคคล จำนวน 100 รายการ มาขายให้แก่บุคคลทั่วไป กรณีเช่นนี้  บริษัท เอ จำกัด มีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนต่อ สคบ.ก่อนจึงจะทำการค้าขายได้   ส่วนบุคคลที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต หรือผู้นำเข้า ที่เป็นเจ้าของสินค้าจำนวน 100 รายการ นั้น  หากเจ้าของเวบไซต์ดังกล่าว ได้จดทะเบียนธุรกิจตลาดแบบตรงต่อ สคบ.แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปจดทะเบียนต่อ สคบ.อีก  ทั้งนี้ เจ้าของเว็บไซต์จะต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับชนิดหรือประเภทของสินค้า ชื่อที่อยู่ของเจ้าของผลิตภัณฑ์  วิธีการซื้อขาย  เงื่อนไขต่างๆ ให้นายทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงทราบด้วย หากมีปัญหาการผิดสัญญาก็ดี  สินค้าไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ปลอดภัยก็ดี สคบ.ย่อมสามารถตรวจสอบและติดตามผู้ต้องรับผิดได้

2.  กรณีบริษัท ห้างร้าน หรือบุคคลธรรมดา ที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้าหรือผู้แทนจำหน่าย หรือผู้ขาย หากจดทะเบียนเว็บไซต์เพื่อค้าขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตเป็นของตนเอง โดยไม่ผ่านเว็บไซต์ที่เป็นสื่อกลางดังที่กล่าวมาในข้อ 1. เป็นผู้มีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงต่อ สคบ.โดยตรง ตัวอย่างเช่น บริษัท เอ จำกัด เป็นผู้ผลิตสินค้าเครื่องสำอางเพื่อจำหน่าย โดยมีการจำหน่ายผ่านสื่อต่างๆ เช่น สื่ออินเตอร์เน็ต เป็นต้น บริษัท เอ จำกัด ต้องยื่นจดทะเบียนธุรกิจตลาดแบบตรง (ขายสินค้าผ่านสื่อ) ก่อน จึงจะทำการจำหน่ายสินค้าผ่านสื่อดังกล่าวได้
3.  ธุรกิจตลาดแบบตรง ที่มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนต่อ สคบ. ตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545  หมายรวมถึง บุคคลที่ทำการค้าขายสินค้าผ่านสื่ออื่นๆ ด้วย เช่น สื่อโทรศัพท์   โทรสาร หรือเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบอื่นๆ
ตัวอย่างเช่น
(1) บริษัท บี จำกัด  เปิดสายด่วนหมายเลข 9999 เพื่อเป็นสื่อกลางหรือเป็นหน้าตัวแทนนายหน้าในการซื้อขายสินค้าไม่ว่าเป็น ผลิตภัณฑ์ของตนเองหรือผลิตภัณฑ์ของบุคคลอื่นให้แก่ผู้บริโภค กรณีเช่นนี้บริษัท บี จำกัด มีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงต่อ สคบ.ด้วยเช่นกัน
(2) นางสาวสวย รูปงาม เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง รวมทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายรายการ จัดให้มีการโฆษณาสินค้าดังกล่าวผ่านโทรทัศน์ดาวเทียม โดยจัดให้มีการโทรศัพท์สั่งซื้อสินค้าผ่านรายการด้วย กรณีเช่นนี้ นางสาวสวยฯ มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนธุรกิจตลาดแบบตรงก่อนจึงจะทำการค้าขายสินค้าผ่านสื่อ โทรศัพท์ได้

3. บทกำหนดโทษสำหรับผู้กระทำการฝ่าฝืน  ผู้ใดประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง (ค้าขายสินค้าผ่านสื่อ) โดยไม่จดทะเบียนธุรกิจตลาดแบบตรง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับรายวันอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่  (มาตรา 47 แห่ง พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545)

4. ธุรกิจที่ไม่อยู่ในข่ายต้องจดทะเบียนบริษัท ห้างร้าน หรือบุคคลธรรมดา ที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้าหรือผู้แทนจำหน่าย หรือผู้ขาย ที่ทำการโฆษณาสินค้าผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งสื่ออินเตอร์เน็ตด้วย นั้น   หากประสงค์เพียงโฆษณาสินค้าหรือบริการผ่านสื่อเพียงอย่างเดียว โดยมิได้ประสงค์หรือมุ่งที่จะทำการซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านสื่อด้วย แล้ว ไม่มีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงต่อ สคบ.แต่อย่างใด  ธุรกิจประเภทนี้มุ่งที่จะทำการตลาดในลักษณะค้าปลีกหรือค้าส่งเท่านั้น  แต่การโฆษณาสินค้าหรือบริการก็เพื่อให้บริโภครู้จักมักคุ้นกับชื่อทางการค้า หรือเครื่องหมายการค้า หรือตัวสินค้าเท่านั้น และหากผู้บริโภคต้องการจะซื้อสินค้าก็สามารถไปเลือกซื้อได้ที่ร้านจำหน่าย ทั่วไป  โดยผู้บริโภคสามารถเห็นตัวสินค้า  เห็นฉลากสินค้า เห็นรายละเอียดต่างๆ ที่ตัวผลิตภัณฑ์นั้นโดยตรง ซึ่งต่างจากการสั่งซื้อสินค้าผ่านสื่อที่ผู้บริโภคไม่มีโอกาสได้เห็นตัว สินค้าก่อนที่จะทำการซื้อขาย

 ข้อสังเกต 
 (1) ผู้ประกอบธุรกิจที่ทำการค้าขายสินค้าผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งสื่ออินเตอร์เน็ต นั้น นอกจากมีหน้าที่ต้องจะทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงต่อ สคบ.ตาม พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 แล้ว ยังมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2545  ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าด้วย เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบการมีตัวตนของผู้ประกอบการได้ มีตัวตนจริงหรือไม่ อยู่ที่ไหน ทำธุรกิจอะไรบ้าง (ต้องจดทะเบียนทั้งต่อ สคบ. และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า)

(2)  กรณีมีข้อสงสัย หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สคบ. หมายเลขโทรศัพท์ 02-141-3420-22 สายด่วน 1166

ที่มา : นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา สมาคมการขายตรงไทย

 

ขั้นตอนการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง

ขั้นตอนการจดตลาดแบบตรง

ที่มา : http://www.ocpb.go.th